โซล คนเดียวก็เที่ยวได้ด้วยรถไฟใต้ดิน!
อีกเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกเดินทางมาท่องเที่ยวเกาหลี ก็อาจเป็นเพราะเกาหลีเป็นประเทศที่ปลอดภัย และมีการคมนาคมที่สะดวกสบาย เส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อทั่วทั้งเกาหลี แค่ใช้เวลาสั้นๆอ่านบทความนี้ รับรองว่าจะไปไหนในเกาหลีก็ไปเองง่ายๆ สบายๆ~
ไม่ใช่แค่ในกรุงโซลเท่านั้น แต่ในเมืองใหญ่ๆอย่าง ปูซาน แดกู ควางจู ก็ล้วนมีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ในบทความนี้เราจะมาเน้นการเดินทางในโซลเป็นหลัก (แต่หลักการของเมืองอื่นๆก็คล้ายๆกันล่ะ)
สายรถไฟสายหลักๆในเกาหลี จะแยกตามหมายเลขและสี และบางสายที่มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง เริ่มตั้งแต่
■ สาย 1 ■ สาย 2 ■ สาย 3 ■ สาย 4 ■ สาย 5
■ สาย 6 ■ สาย 7 ■ สาย 8 ■ สาย 9
■ สายสนามบิน (Airport Railroad หรือ AREX)
■ สาย Bundang
■ สาย Shinbundang
■ สาย Gyeongui-Jungang
วิธีนั่งรถไฟใต้ดินในเกาหลี
จะเห็นว่ามีสายต่างๆเยอะแยะเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ต้องรู้จริงๆมีแค่ 3 อย่าง ก่อนนั่งรถไฟใต้ดินในเกาหลี
- แผนที่รถไฟฟ้าใต้ดินเกาหลี หรือ แอพรถไฟเกาหลี
แผนที่รถไฟฟ้า สามารถดูได้จากสถานีหรือมีแจกฟรีตามศูนย์ประชาสัมพันธ์ของแต่ละสถานี แอพรถไฟเกาหลี เช่น Subway เป็นแอพที่แสดงเส้นทางรถไฟเกาหลี บอกการเปลี่ยนสถานีเพียงแค่ค้นหาชื่อ - รู้สถานีเริ่มต้น และ สถานีปลายทาง
เราจะเดินทางโดยไม่รู้ที่หมายปลายทางได้อย่างไร ก่อนวางแผนท่องเที่ยวควรรู้ว่าจะไปลงสถานีไหน ทางออกอะไร - เตรียมบัตรโดยสาร
เตรียมบัตรโดยสารซึ่งมีหลายแบบ แบบไหนที่เหมาะกับการเดินทางของเรา สามารถติดตามอ่านได้จาก เที่ยวเกาหลี ซื้อบัตรเดินทางแบบไหนดี? หรือสามารถซื้อเป็นตั๋วแบบเที่ยวเดียว (Single Journey Ticket) จากสถานีก็ได้
ทำความรู้จักหน้าตาสถานีรถไฟฟ้าในเกาหลี
ทุกสถานี ตรงประตูทางเข้า-ออกจะมีรายละเอียดสำคัญต่างๆระบุเอาไว้อยู่ โดยจะบอก หมายเลขประตูทางออก, ชื่อสถานี (ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน), ตัวอักษรย่อและหมายเลขของสถานี และบอกหมายเลขสาย ถ้ามีมากกว่า 1 แสดงว่าสถานีมีหลายสายตัดผ่านกัน
วิธีการใช้งานแอพ Subway เดินทางในเกาหลี
ก่อนอื่นให้ไปดาวน์โหลดแอพ “Subway” มาติดเครื่องกันไว้ก่อน
แอพนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาเส้นทาง ไม่ต้องเอานิ้วมาไล่จิ้มดูว่าจะต้องไปเปลี่ยนสายไหนบ้าง และเมื่อเราเปิดแอพขึ้นมา ก็จะมีให้ตั้งค่าภาษา เลือกเมือง (โซล) แล้วก็เริ่มต้นใช้งานแอพได้เลยทันที โดยเราสามารถค้นหาจากการค้นหาสถานีเริ่มต้นและสถานีปลายทาง
เลือกจุดเริ่มต้น : โดยการค้นหาชื่อสถานี แตะที่ปุ่มรถไฟ (มุมล่างขวาของจอ) เลือกรูปแว่นขยาย แล้วพิมพ์ชื่อสถานีที่เราอยู่ ณ ตอนนั้น แล้วเลือก Departs from
เลือกจุดปลายทาง : ทำเหมือนข้างบน แต่เลือกเป็น Arrives at
แอพจะแสดงเส้นทางการนั่งให้ดู หากมีการเปลี่ยนสายจะใช้คนละสีแสดงการเปลี่ยนสาย เราสามารถเลือกเส้นทางที่เร็วที่สุด โดยการแตะที่ (Fastest) หรือเลือกเปลี่ยนสายน้อยที่สุด โดยการเลือก (Fewest)
เมื่อเลือกได้แล้วว่าต้องการไปเร็วที่สุดหรือเปลี่ยนสายน้อยที่สุด สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้โดยการแตะที่ปุ่ม Detail info จะแสดงข้อมูลการขึ้นนั่งรถไฟโดยละเอียด
แสดงเวลาปัจจุบัน รวมไปถึงแสดงเวลาที่รถจะมา (รถไฟเกาหลีตรงเวลาเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วนจริงๆจะไม่ค่อยดีเลย์) ทิศทางของรถว่าต้องนั่งไปฝั่งไหน (สำคัญต้องนั่งให้ถูกฝั่ง) นั่งไปฝั่งไหนจะเป็นชื่อสถานี แล้วลงท้ายด้วยคำว่า bound

หมายเหตุ : นั่งฝั่งไหน ส่วนใหญ่แอพจะบอกเป็นสถานีที่อยู่ถัดไป หรืออาจจะบอกสถานีสุดท้าย ปลายสายของรถไฟสายนั้นๆ ต้องเช็คตอนขึ้นรถไฟหรืออ่านป้ายก่อนขึ้นรถไฟให้ดีเพื่อป้องกันการนั่งผิดฝั่ง
ยังบอกรายละเอียดระยะทางว่าต้องผ่านกี่สถานี และใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง และด้านบนสุดจะบอกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
เช็คอีกทีก่อนขึ้นรถไฟ
ในสถานีจะมีป้ายบอกว่าฝั่งไหนต้องไปขึ้นตรงไหน แนะนำให้สังเกตจากป้าย และทิศทางของลูกศร ไล่ดูว่าผ่านสถานีที่เราต้องการจะขึ้นหรือเปล่า (ถ้าเผลอมาผิดฝั่งแล้วก็ไปอ่านต่อที่บทความ นั่งรถไฟฟ้าผิดฝั่งอย่าตกใจ มาดูวิธีเมื่อนั่งรถผิดฝั่ง! )

ถ้ามั่นใจว่าถูกฝั่ง ถูกทิศทาง ถูกขบวนแล้วก็ขึ้นได้เลย หากต้องไปเปลี่ยนสายที่ไหน ก็ให้ฟังเสียงตามสายหรือดูผ่านจอให้ดี (จอรถไฟบางสถานีดันเสียก็ต้องอาศัยมองป้ายข้างนอก)
ถ้าต้องเปลี่ยนสาย ให้ออกจากสถานีนั้น แล้วเดินตามทางที่เขียนว่า Transfer
เส้นทางตอนเปลี่ยนสาย (Transfer) ปกติแล้วจะทำเป็นแถบสี (ตามสีของสาย) แสดงให้เห็นชัดเจน และเขียนกำกับด้วยว่าไปสถานีไหนบ้าง และฝั่งไหน (เปลี่ยนสายถูกแต่ขึ้นผิดฝั่งก็ต้องวนไปอีก ดังนั้นเช็คก่อนขึ้นรถไฟเหมือนเดิมว่าไปถูกทิศทางหรือเปล่า)
เมื่อถึงสถานีปลายทางแล้ว ก็ให้ออกและตามหาประตูทางออกที่เราต้องการ ประตูทางออกจะเขียนกำกับด้วยพื้นหลัง สีเหลือง เขียนว่า Exit หรือ Way out และใช้ตัวเลขแทนประตูทางออก
ให้แตะบัตรที่เครื่องอ่าน และออกในช่องที่มีลูกศรสีเขียวกำกับไว้ แตะจนได้ยินเสียงปี๊บแล้วเดินผ่านหรือดันที่กั้นออก หรือใครที่มีสัมภาระเยอะเช่นกระเป๋าใบใหญ่ๆ แนะนำให้ไปริมสุดจะมีที่สำหรับแตะบัตรออกเช่นกัน ให้แตะบัตรแล้วดันที่กั้นออกไปได้เลย
หากแตะบัตรตอนออกแล้วมีปัญหาออกไม่ได้ อาจจะเกิดได้จากเงินในบัตรไม่เพียงพอ ตอนแตะเข้ามาครั้งแรกจะมีการหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง หากระยะทางในการนั่งของเราไกลขึ้นก็จะมีการเก็บเพิ่มตอนแตะบัตรออก โดยเราสามารถเอาบัตรของเราไปเช็คที่ ตู้ Fare Adjustment เพื่อเติมเงินเข้าไปเพิ่มได้ โดยตู้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางออกเลย

มารยาทในการใช้รถไฟในเกาหลี
- สงวนสิทธิ์ให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงสตรีมีครรภ์ สตรีที่มากับเด็กเล็ก จะมีเตรียมไว้ในทุกๆขบวน ก็ไม่ควรไปนั่งเก้าอี้ตรงนี้

- สงวนสิทธิ์ให้กับสตรีมีครรภ์ เก้าอี้จะเป็นสีชมพู ไม่ควรไปนั่งตรงนี้อีกเช่นกัน

- การเดินขึ้นบันได(รวมถึงบันไดเลื่อน) คนเกาหลีจะชิดขวาและเปิดให้คนเดินซ้าย
- เปิดโหมดสั่น และใช้หูฟังขณะฟังเพลงหรือใช้โทรศัพท์มือถือ คนเกาหลีไม่ซีเรียสเรื่องการคุยโทรศัพท์บนรถไฟฟ้าเหมือนกับญี่ปุ่น เอาจริงๆแล้วบนรถไฟฟ้าของทีนี่คนเสียงดังกว่าเยอะเลย แต่ก็ถือเป็นมารยาทที่ไม่คุยหรือส่งเสียงดังบนรถไฟฟ้า
ลักษณะของรถไฟสายต่างๆในเกาหลี
(ตรงนี้รู้ไว้ก็ดี ไม่ต้องรู้ก็ได้)
สาย 1 – เป็นสายที่เก่าแก่ และยาวที่สุด (200 กม.) เส้นทางยาวไปถึงต่างจังหวัดด้วยจึงทำให้สถานีเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายวัย ออกต่างจังหวัดด้วย จึงทำให้มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันอยู่เรื่อยๆ บวกกับเป็นสถานีที่มีปลายทางเยอะมาก ดังนั้นเวลานั่งต้องดูให้ดีเลยว่าไปสุดที่สถานีไหน สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Seoul, Sindorim, Yongsan, Noryangjin
สาย 2 – ลักษณะเป็นเส้นวงกลม วนไปเรื่อยๆ วนหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เป็นสถานีที่เต็มไปด้วยนักเรียนจนถึงวัยทำงาน เพราะผ่านมหาวิทยาลัยอยู่เรื่อยๆ จะแน่นๆว่างๆ สลับกันไป สิ่งสำคัญที่ต้องระวังสายนี้คือ จะมีบางช่วงที่รถไฟไปสุดที่แค่สถานี Sindorim (ปกติก่อนขึ้นจะมีเสียงตามสายประกาศว่าไปสุดที่สถานีไหน) ถ้าเผลอนั่งแล้วไปสุดที่สถานี Sindorim แล้ว ก็แค่ให้ออกจากรถมา แล้วเดินต่อมาตามทางเรื่อยๆ เพื่อนั่งรถต่อไปสายที่ต้องการ สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Hongik Univ., Gangnam, City Hall
สาย 3 – สายนี้นั่งไม่ยาก เพราะเป็นแค่เส้นเดียวยาวๆ จะไปสุดที่สถานี Daehwa หรือ Suseo สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Gyeongbokgung, Sinsa, Express Bus Terminal
สาย 4 – สายนี้เป็นเส้นเดียวเหมือนกับสาย 4 เช่นกัน สุดของสถานีคือ Danggogae หรือ Oido สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Myeongdong, Dongdaemun, Seoul Grand Park
สาย 5 – จะมีแยกไปสองทาง คือเริ่มต้นที่ Bangwha แล้วปลายทางจะไปสุดที่ Sangil-dong หรือ Macheon สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Yeouinaru, Gwangwhamun, Gimpo International Airport
สาย 6 – สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย มีจุดเริ่มต้นที่สถานี Eungum (อึงงัม) สุดที่สถานี Bongwhasan สถานีสำคัญในสายนี้ : Korea University, Itaewon, World Cup Stadium
สาย 7 – เริ่มต้นที่สถานี Jangam และสิ้นสุดที่สถานี Bupyeong-gu Office สถานีสำคัญที่อยู่ในสายนี้ : Sangbong, Children’s Grand park, Ttukseom Park
สาย 8 – เป็นสายที่มีระยะทางสั้นที่สุด เริ่มต้นที่สถานี Amsa สิ้นสุดที่สถานี Moran
สาย 9 – เริ่มต้นที่สถานี Gaehwa และสิ้นสุดที่สถานี VHS Medical Center มี Express train และ All stop train โดย Express train จะมีการข้ามสายไปสายที่ไม่มีจุดตัดกับสายอื่นๆ ทำให้รวดเร็วในการเดินทาง ก่อนขึ้นจะมีเสียงประกาศว่ารถไฟขบวนที่จะมาถึงเป็นประเภทไหน ดังนั้นควรปลายทางให้ดีว่าอยู่ในเส้นทางที่รถไฟ Express train ผ่านหรือไม่

เวลาเปลี่ยนสายที่สถานีนี้จะมีช่องให้แตะบัตรอีกครั้งก่อนเข้าชานชาลา ซึ่งการเปลี่ยนสายจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สถานีสำคัญในสายนี้ : Gimpo airport, Sinnonhyeon, Bongeunsa
คำแนะนำที่อยากจะแนะนำสำหรับเพื่อนๆ ที่เลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอีกอย่างหนึ่งคือ การเลือกเวลาเดินทางเพื่อป้องกันจำนวนคนที่แออัดบนรถไฟฟ้า ซึ่งสามารถไปติดตามกันต่อได้ในตอน รถไฟใต้ดินเกาหลีเวลาไหนควรนั่ง เวลาไหนควรเลี่ยง?
อย่าลืมกดติดตามเรื่องราวอัพเดตล่าสุดของ จะไปเกาหลี ได้ในช่องทางอื่่นๆทั้ง Facebook และ Twitter!