สิ่งที่นักท่องเที่ยวที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเกาหลีหลายๆคนอาจจะ “กลัว” มากกว่าเรื่องเอาตัวรอดในเกาหลี อาจจะเป็นเรื่อง “ตม.”
เที่ยวเกาหลีครั้งแรกจะไปยังไง อะไรอยู่ตรงไหน กลัวหลง นู่นนี่นั่น เอาจริงๆแล้วอาจจะไม่น่ากลัวเท่าเรื่องราวของ “ตม.เกาหลี.” ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทุกคนจะต้องเจอ
โดยเฉพาะคนที่เข้าข่าย ไม่เคยเดินทางไปไหนเลย พาสปอร์ตขาวจั๊วะ, เป็นฟรีแลนซ์, ตกงานอยู่, พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง ไม่ว่าอะไรก็ดูเหมือนจะต้องโดนขาอีกข้างก้าวไปรออยู่ห้องเย็นแล้ว … จะบอกว่า “ใจเย็นๆก่อน”
เพราะคำถามที่ ตม.เกาหลีเกาหลีถาม ก็ไม่ได้ยากเหมือนตอนสัมภาษณ์งาน วัดความสามารถอะไรกันขนาดนั้น แต่ทว่าด้วยความประหม่า และคำที่ได้ยินกันมา หรือแม้กระทั่งเห็นใครถูกเรียกไปห้องเย็นต่อหน้าต่อตา ก็ทำให้การสนทนาดูตะกุกตะกัก และกลายเป็นว่า ตม.เกาหลี โหดเหมือนกับสอบสัมภาษณ์งานอย่างไงอย่างงั้น แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ในการถาม หรือ ไม่ถามอะไรเลย ทั้งหมดนี้คือความ “น่าเชื่อถือ” ของแต่ละบุคคลล้วนๆ อะไรที่เข้าข่ายการตรวจสอบ ก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ในการสอบถาม
คำถามตม.เกาหลี
ตม.เกาหลี ถามอะไรบ้าง? จากประสบการณ์และการรวบรวมคำถามจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ใน Pantip และเว็บไซต์ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้พบว่ามีคำถามหลักๆทั่วไปที่ตม.เกาหลี มักจะถามดังนี้
อาจจะเริ่มต้นด้วยประโยคว่า
“First time? (เดินทางครั้งแรกเหรอ?)”
“Alone? (เดินทางคนเดียว?)”
เป็นคำถามทักทาย แต่คำถามทั่วไปก็จะเป็นเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น
How long will you stay here? (ระยะเวลาในการอยู่ที่เกาหลี?)
ตอบไปเลยตามควรจริง ว่าเดินทางกี่วันจะ 3 days, 7 days 6 nights ตอบให้ตรงตามความเป็นจริง
What’s the purpose of your visit? (เหตุผลในการเดินทางครั้งนี้?)
คุณอาจจะตอบว่า Travel (ท่องเที่ยว) แล้วพูดคร่าวๆว่าในทริปของคุณไปที่ไหนบ้าง เน้นสถานที่สำคัญๆ แน่นอนว่าต้องเป็นเหตุผลจริงๆของการเดินทางมา หรือจะตอบว่า มาหาเพื่อน (Visit friends) ก็ได้ แต่ก็ควรมีข้อมูลที่แน่นพอเกี่ยวกับเพื่อนคนนั้น เพราะถ้าเขาสงสัย แน่นอนว่าอาจจะมีการถามคำถามที่เจาะจงมากขึ้น เพื่อนอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร เป็นคนชาติอะไร ทำไมรู้จัก … และอีกสารพัดคำถาม
ความโหดอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากตม.สงสัยเราเพิ่มเติม เช่น Where is your hotel? How to get there? (โรงแรมอยู่ที่ไหน? จะเดินทางไปที่พักยังไง?)
โอ้โหย.. ฉันก็เพิ่งจะมาประเทศคุณครั้งแรก จะไปรู้ได้ยังไงว่าสถานีรถไฟอยู่ตรงไหน เดินทางยังไง
“ใจเย็นๆ (อีกแล้ว)” เรื่องวิธีการเดินทางเนี่ยเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยว เตรียมพร้อมได้ตั้งแต่เนิ่นๆเช่นกัน แน่นอนว่าคนที่เตรียมการเดินทางเอง จะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน หรือต้องไปลงสถานีไหน
ดังนั้นการเตรียมข้อมูลที่พัก เราควรมีเอกสารการจองที่พัก ต่อจะให้พักที่โรงแรมหรือ Airbnb เราก็ควรจะทราบที่อยู่ เป็นภาษาเกาหลีและอังกฤษ มีเบอร์ติดต่อชัดเจน อยู่ใกล้กับสถานีไหนก็ควรรู้เช่นกัน
ขั้นตอน ตม. ที่เกาหลี
เมื่อเราลงเครื่อง และเดินมาตามป้าย Immigration (ตม.) ก็จะเห็นกับช่องทางสำหรับชาวต่างชาติหน้าตาแบบนี้
ให้เราเดินเข้าแถว เมื่อใกล้ถึงเคาน์เตอร์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำให้เราไปตามช่องต่างๆ โดยระหว่างการรอคิวนี้ หลายๆคนแนะนำเลยว่า เราไม่ควรคุยกับคนที่ไม่รู้จัก แม้จะขอความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ เช่น ยืมปากกา หรือชวนคุยเล่นๆ ก็ควรใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจจะทำให้โดนลูกหลงจากคนที่ไม่หวังดี ตีเนียนเป็นเพื่อนสนิท และกลายเป็นโดนลูกหลง ถูกแอบอ้างว่าเดินทางมาด้วยกันได้
เพราะเคยมีเคสแบบนี้เยอะแยะ เช่นใน [Pantip | เกือบไม่ผ่านตม.เพราะความใจดีที่ไปช่วยเหลือคนไทยอีกคนครับ]หรือ [Pantip | เมื่อโดนห้ามเข้าประเทศจากการช่วยคนไทยหน้า ตม. ในต่างแดน]
หลายคนที่เดินทางกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเดินทางกับคุณพ่อหรือคุณแม่ ที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษ ควรจะมีการพูดคุยซักซ้อมกับที่บ้านมาล่วงหน้า ให้สามารถพูดบทสนทนาพื้นฐาน เช่น เดินทางกับลูกชาย ลูกสาว ลูกสาวอยู่ทางโน้น เป็นต้น เทคนิคคือ เมื่อใกล้บริเวณจัดแถว หากมีเจ้าหน้าที่จะมาจับแยกให้บอกเขาว่า “This is my mother/father. She/He can’t speak English” หรือบอกให้เขารู้ว่ามาด้วยกันและมีคนไม่สันทัดภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้อยู่แถวเดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เข้าไปก่อน เพราะถ้าเกิดปัญหาเราสามารถเดินเข้าไปช่วย หรือตะโกนบอกได้บ้าง (แต่ตม.เกาหลีเขาไม่ให้เข้าไปพร้อมกัน 2 คน ให้เข้าทีละคนเท่านั้น)
เมื่อถึงคิวของคุณ ตม.มีสิทธิ์ที่จะถามคำถาม หรือไม่ถามอะไรเลย เอกสารที่คุณจะต้องยื่นให้คือ พาสปอร์ต และ บัตรขาเข้า (Arrival card) หากไม่มีปัญหา ตม.ก็จะให้คุณสแกนลายนิ้วมือ มองกล้อง โดยรายละเอียดตรงนั้นจะมีเสียงเป็นภาษาไทยให้คุณทำตาม จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะพิมพ์สลิปที่ภายในระบุวันที่สามารถอยู่ในประเทศเกาหลีได้ (ไม่มีการประทับตราบนพาสปอร์ต)
เหตุผลที่คนจะไม่ผ่านตม.เกาหลี
1. คนที่ตั้งใจมาทำงานด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว
เป็นที่รู้กันว่าใครก็ตามที่จงใจมาทำงาน หรือดำเนินกิจกรรมใดอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวแล้วก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะการละเว้นวีซ่า 90 วันสำหรับคนไทยนั้น มีจุดประสงค์คือการท่องเที่ยว การเข้ามาทำงานจะต้องถือวีซ่าสำหรับทำงาน หรือใครที่อยู่นานกว่า 90 วัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องเรียน, ธุรกิจ ก็จำเป็นต้องยื่นทำวีซ่าก่อนเดินทางเข้าประเทศ
- การขอวีซ่าเกาหลีเพื่อมาศึกษาต่อ (D2,D4) / ธุรกิจ (ว่าจ้างงานระยะสั้น) (C4) / วีซ่าพ่อครัว-เชฟ (C4) / ผู้สื่อข่าว / Official / Diplomatic สามารถอ่านรายละเอียดได้ใน คำแนะนำเกี่ยวกับวีซ่า
2. ขาดความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับหน้าที่การงาน
หน้าที่การงานในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด เพราะมันเป็นตัวการันตีว่า “คุณจะต้องกลับไปทำงาน” โดยเฉพาะข้าราชการ ที่มีวันลาจำกัดมากกว่าสายอาชีพอื่นๆ หรือ คนที่มีตำแหน่งสำคัญในบริษัทใหญ่ๆ คนกลุ่มนี้สบายใจได้เลย ไม่ต่างกับนักเรียน-นักศึกษา ที่มีหน้าที่ต้องกลับไปศึกษาต่อ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่อยากให้อุ่นใจที่สุด ควรมีหลักฐานเช่น บัตรนักเรียน, ใบรับรองสภาพนักเรียน ติดตัวไว้ด้วย
สำหรับคนที่เป็นฟรีแลนซ์ รับจ้าง ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ เช่น นามบัตร, เอกสารสัญญาหรือผลงานที่ทำอยู่เพื่อรับรองเงินเดือนของเรา
สำหรับคนที่ไม่มีงาน ตกงานอยู่ ก็ยิ่งต้องให้รู้ว่าโอกาสที่เราจะโดนสอบถามมีเยอะ นอกจากเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเช่น แผนการท่องเที่ยว, ใบจองโรงแรม หรือเงินสดติดตัวแล้ว ควรเตรียมเอกสารด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากจากธนาคารของไทย (ภาษาอังกฤษและออกโดยธนาคาร) มาประกอบเพิ่มเติม
3. ระยะเวลาในการเดินทางที่นานผิดปกติ
เราจะเดินทางไปเที่ยวกี่วัน ควรนับมาและจำให้ขึ้นใจ ไม่ใช่รู้แค่วันที่กลับอย่างเดียว เพราะมันเป็นการบอกว่าคุณมีระยะเวลาในการเดินทางที่แน่นอน ชัดเจน กลับภายในวันที่ระบุ หากใครที่เคยมีประวัติการเข้า-ออกประเทศเกาหลีที่ผิดสังเกต เช่น เคยมาเกาหลีและและไม่ได้ออกนอกประเทศตามวันที่เคยระบุ เป็นระยะเวลาที่นานมาก ก็อาจจะเข้าข่ายที่ต้องโดนสอบถามเพิ่มเติม
ส่วนใหญ่คนที่เสี่ยงถูกสอบถามเพิ่มเติม จะเป็นคนที่ มีระยะเวลาในการเดินทางที่นานกว่าปกติ เช่น อยู่เต็ม 90 วัน ก็จะต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ หรือแผนการเดินทางที่ชัดเจน
เอกสารที่ควรมีคือตั๋วขากลับ แต่เดี๋ยวนี้สายการบินจะมีหน้าที่เช็คตั๋วขากลับตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่มีตั๋วขากลับก็มีสิทธิ์ถูกปฏิเสธกันตั้งแต่เช็คอินแล้ว
4. ใส่ข้อมูลมั่วๆ ลอยๆ หรือน่าสงสัย
ในใบกรอกคนเข้าเมือง (Arrival card) หรือเอกสารเกี่ยวกับภาษี หากมีการกรอกข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น การกรอกหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ในเกาหลี เช่น กรอกเบอร์ส่วนตัวคนเกาหลี อาจจะเป็นเบอร์เพื่อนก็ดี หรือคนรู้จักก็ดี เราขอแนะนำว่า “ไม่ควรใส่” เพราะไม่ได้ช่วยให้คุณรอด แต่จะทำให้เกิดคำถามมากขึ้นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ดีไม่ดีอาจจะโดนทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายๆว่า เขาจะเป็นคนชวนให้คุณเข้ามาทำงานในเกาหลี
5. เอกสารไม่ครบถ้วน
แม้ว่าตม.ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะตรวจสอบเอกสารเดินทางของเรามากนัก แต่หากมีการตรวจสอบ หรือขอดู เราก็ควรอยู่ในสภาพที่พร้อมให้ตรวจสอบและให้ดูตลอดเวลา และควรพิมพ์ไปมากกว่าการแสดงให้ดูในโทรศัพท์มือถือ เพราะหากแบตหมดหรือโทรศัพท์ไม่เอื้ออำนวยในเวลานั้นก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
* หากมีการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ควรพกหนังสือเดินทางชุดเก่าไปด้วย
กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เดินทางมาเที่ยวเกาหลีเองคนเดียว
กรณีที่ผู้เดินทางเป็นเด็ก ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปแต่ยังมีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ กรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เมื่อจะเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก จะต้องใช้พาสปอร์ต และสิ่งที่ต้องใช้ในการทำหนังสือเดินทาง จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ต้องใช้บัตรประชาชนและเอกสารรับรองของผู้ปกครอง (พ่อหรือแม่) เพื่อใช้ออกหนังสือเดินทาง
และเมื่อได้รับหนังสือเดินทางแล้ว หากเดินทางคนเดียวหรือเดินทางกับผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง อาจจะต้องเตรียมเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือยินยอมบุตรเดินทางไปต่างประเทศ ” ฉบับภาษาอังกฤษ โดยสามารถไปติดต่อทำหนังสือชุดนี้ที่ สำนักงานเขต (ตามภูมิลำเนาของบุตร) หรือ ที่ว่าการอำเภอ (ตามภูมิลำเนาของบุตร) ทั้งนี้เอกสารชุดนี้อาจจะต้องใช้ หรือไม่ต้องใช้ก็ได้ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตม.
(แต่ก็มีแนวโน้มว่าไม่ต้องใช้เอกสารชุดนี้เช่นกัน แต่บางทีสายการบินอาจจะปฏิเสธตั้งแต่แรก แนะนำให้โทรสอบถามสายการบินที่เดินทาง ว่าต้องใช้เอกสารชุดนี้หรือเปล่า)
หวังว่าจะเป็นแนวทางสำหรับทุกคนที่เตรียมตัวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศเกาหลี อาจจะต้องยอมรับในความเข้มงวดของตม.ของที่นี่ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย และส่วนหนึ่งที่มาจากการลักลอบของคนไทยที่เข้ามาทำงานในประเทศเกาหลีที่มีสูงเป็นอันดับต้นๆ (แรงงานไทยที่ลักลอบเข้ามาทำผิดกฎหมาย สูงเป็นอันดับต้นๆในบรรดาแรงงานต่างประเทศเลย)
อยากให้ทุกคนสูดลมหายใจลึกๆ และคิดเสมอว่า “ถ้าไม่ได้ทำผิด ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว” แต่คนที่ตั้งใจมาทำผิดตั้งแต่แรกนี่ เราขอแนะนำว่า “คิดให้ดีๆก่อนนะ…”