เรื่องเงินๆทองๆเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องควบคุมกันให้ดี เพื่อให้ทริปไม่มีการใช้จ่ายเกินตัว หรือเกินงบจนบานปลายมากเกินไป โดยเฉพาะที่เกาหลี ประเทศที่ทุกอย่างรองรับการใช้จ่ายด้วยบัตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรต่างประเทศ เดบิต เครดิต รองรับแทบจะหมดเลย เรียกว่ารูดปรื้ดๆ ใช้คล่องกันเลยทีเดียว… เราจะมาดูกันว่าเราจะมีวิธีการใช้เงินในเกาหลีด้วยบัตรต่างๆอย่างไรได้บ้าง
เตรียมบัตรให้พร้อมก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวในเกาหลี
ร้านค้าหลายแห่งในเกาหลีใต้รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA หรือ Mastercard ดังนั้นก่อนเดินทางให้ตรวจสอบว่าบัตรเครดิตหรือเดบิตที่ถืออยู่มีสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้หรือไม่ และแนะนำให้ติดต่อไปยัง Call Center ของธนาคาร หรือ ติดต่อโดยตรงที่สาขา เพื่อติดต่อว่าจะนำบัตรไปใช้ต่างประเทศ ให้เปิดใช้งานบัตรในต่างประเทศ จะได้รับคำแนะนำในการใช้งาน รวมไปถึงพนักงานจะสอบถามช่วงเวลาที่เราจะเดินทาง เพื่อป้องกันหากบัตรเกิดการสูญหาย เกิดการโจรกรรม หรือพบความผิดปกติของบัญชีก็จะสามารถระงับการใช้บัตรได้อย่างทันถ้วงที
คำแนะนำก่อนกดเงินสด
ปกติแล้วการถอนเงินจากตู้ ATM จะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าการรูดจ่ายผ่านเครื่องอ่านบัตรตามร้านค้า ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นเงินสด ก็ยังอยากจะแนะนำให้ใช้บัตรรูดจ่ายที่ร้านค้าน่าจะดีกว่า
การกดเงินสดผ่านตู้ ATM เกาหลี
เราสามารถกดเงินผ่านตู้ ATM ของธนาคารไหนก็ได้ ที่รองรับ Global ATM ซึ่งส่วนมากธนาคารใหญ่ในเกาหลีๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกุกมิน (KB Bank), ธนาคารชินฮัน (Shinhan Bank), ธนาคารอูรี (Woori Bank) ล้วนรองรับบัตรต่างประเทศที่มีสัญลักษณ์ VISA, MasterCard, Cirrus แทบเกือบจะทั้งหมด
เราจะมาลองกดเงินจากเกาหลีผ่านตู้ ATM กันจริงๆด้วยบัตรเดบิต (debit) จากธนาคารที่ไทยที่มีสัญลักษณ์ VISA และได้ทำการโทรศัพท์แจ้งการใช้งานในต่างประเทศผ่าน call center ก่อนเดินทางเรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนการกดเงินผ่านตู้ ATM เกาหลี
เดี๋ยวนี้ตู้ ATM ในเกาหลีส่วนใหญ่มีเมนูภาษาไทย จึงทำให้การกดเงินสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ก็จะมีคำแปลกๆที่เราไม่คุ้นเคย วันนี้จะมาอธิบายตามทีละขั้นตอนกันเลย
1. สอดบัตรเข้าไปในเครื่องอ่านตามลูกศรของบัตร (เช็คได้จากหลังบัตรของเรา)
2. เลือก Other Languages (Global Service)
3. เลือกปุ่ม (계속거래 ดำเนินการทำธุรกรรมต่อ) สีเขียวด้านขวา ปุ่มนี้จะมีเฉพาะบางธนาคาร เป็นข้อความเตือนว่า หากพบความปิดปกติตรงบริเวณเครื่องอ่านบัตร ให้โทรศัพท์แจ้งหรือติดต่อที่สาขา
4. เลือก “ภาษาไทย”
5. เลือก “บัตรต่างประเทศ (ภาษาไทย)”
6. เลือก “ถอนเงินสดจากบัญชีออมทรัพย์”
7. เลือกจำนวนเงินที่ต้องการถอน (เริ่มตั้งแต่ 10,000 วอน ประมาณ 310 บาท ไปจนถึง 1,000,000 วอน หรือ ประมาณ 31,000 บาท)
8. หากเราต้องการถอนเงินที่มีจำนวนเงินมากกว่า 50,000 วอน จะมีคำถามเพิ่มขึ้นมาว่าเรา “ต้องการธนบัตรฉบับ 50,000 วอน เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่” ซึ่งถ้าเราอยากได้แบงก์ย่อย เป็นแบงก์ใบละ 10,000 วอน ทั้งหมดให้กดปุ่ม “ยืนยัน” ได้เลย และเงินจะออกมาเป็นแบงก์ 10,000 ทั้งหมด
แต่ถ้าเราอยากได้แบงก์ 50,000 ด้วย จะต้องกรอกจำนวนที่เราต้องการในหลัก 10,000 (หมื่นวอน) ซึ่งถ้าไม่เข้าใจประโยคนี้ เรามาดูตัวอย่างกัน…
ตัวอย่าง สมมติว่ากดเงิน 50,000 วอน (ห้าหมื่นวอน) แล้วต้องการแบงก์ 50,000 จำนวน 1 ใบให้ใส่เลข 5
สมมติว่ากดเงิน 100,000 วอน (หนึ่งแสนวอน) แล้วต้องการแบงก์ 50,000 ทั้งหมด ให้ใส่ 10
เพราะหน่วยตรงนี้จะเป็น …หมื่น → 10 หมื่น = 10 x 10,000 = 100,000 วอน
สมมติว่ากดเงิน 1,000,000 วอน (หนึ่งล้านวอน) แล้วต้องการแบงก์ 50,000 x 20 ใบ ให้ใส่ 100 เพราะ 100 หมื่น = 1,000,000 วอน นั่นเอง
ถามว่าทำไมยุ่งยาก ก็เพราะคนเกาหลีไม่ได้นับเลขทุกๆ 3 หน่วยเหมือนบ้านเรา แต่จะ นับทุกๆ 4 หน่วย (หมื่น) นั่นเอง (10 หมื่น = 1 แสน, 100 หมื่น = 1 ล้าน)
9. กดรหัสผ่าน เป็นรหัสของบัตร ATM ที่ใช้ที่ไทย หยิบรับใบเสร็จ บัตร และเงินสด
กดผ่านตู้ ATM ที่เกาหลีจะต้องเสียเงินไทยเท่าไหร่ ?
อันนี้ขึ้นอยู่กับบัตรของเราว่าใช้ของอะไร เป็นสัญลักษณ์ VISA หรือ MasterCard หรือเจ้าไหนต้องเช็คที่หน้าบัตรของเรา จากนั้นก็เข้าไปที่เว็บ Currency Converter (แปลงสกุลเงิน) ของแต่ละค่ายแล้วไปทำการเช็คยอดได้เลย
เว็บเช็ค Currency Converter ของบัตรแต่ละประเภท
หน้าบัตรเป็นของค่ายไหน ให้เข้าเว็บไซต์ของค่ายนั้นเพื่อเช็คเรท (เรทที่รูดในบัตรจะไม่เหมือนกับเรทที่แลกเงินตามธนาคารหรือร้านแลกเงิน ดังนั้นจะเอามาเทียบกันไม่ได้) และอัตราแลกเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนไปตามวัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเช็คอย่างผ่านเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างถ้าเราใช้ของ VISA ให้เข้าไปที่ เว็บไซต์นี้
ใส่จำนวนเงิน (สกุลวอน) ที่ต้องการจะแลกในช่อง Amount
อัตราค่าบริการธนาคาร Bank Fee ให้ใส่ 2.5 (จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับธนาคาร แต่ส่วนใหญ่จะเรทประมาณนี้เท่ากัน)
Transaction date ให้ใส่วันที่ทำรายการ (วันที่เราซื้อของ หรือทำการชำระเงิน)
Card Currency (สกุลเงินของบัตรที่นำมากด) เลือกเป็น Thai Baht (THB)
Transaction Currency (สกุลเงินที่ทำรายการ) เลือกเป็น South Korea (KRW)
จากนั้นหน้าเว็บก็จะทำการคำนวณเงินที่ต้องใช้ในสกุลบาทมาให้ ไม่รวมค่าธรรมเนียมจากธนาคารที่ไทย (แล้วแต่ธนาคารซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 100 บาท ต่อ รายการ)
ยกตัวอย่างเราต้องการตรวจสอบว่า หากเราต้องการเงินจำนวน 1,000,000 (หนึ่งล้านวอน) จะเสียเงินเป็นเงินไทยเท่าไหร่ ก็กรอกรายละเอียดลงไปในเว็บตามนี้
จะเห็นว่า 30,368 บาท จะเป็นยอดที่จะหักจากบัญชีธนาคารที่ไทย โดยหากรวมกับ ค่าธรรมเนียมการกดบัญชีจากธนาคารอีก 100 บาท เราก็จะต้องเสียเป็นเงินทั้งหมด 30,468 บาท ต่อ 1,000,000 วอน
เมื่อทำการทดสอบการกดจริง และเช็คยอดที่หักออกจากบัญชีธนาคารจะพบว่า แสดงการหักออกจากบัญชี 2 ยอด เป็นจำนวนที่กด + ค่าธรรมเนียมธนาคาร ซึ่งรวมยอดแล้วจะใกล้เคียงกับที่คำนวณผ่านเว็บ Currency Converter ของ VISA ข้างต้น เป็นการยืนยันว่าเราสามารถใช้เว็บไซต์ข้างต้นในการประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้ได้
อัพเดต
ภายหลังรู้สึกว่าตู้ ATM ที่เกาหลี มีการคิดค่าบริการ ณ ที่ตู้ เพิ่มเติม ประมาณ 3,500 วอน (ซึ่งค่าธรรมเนียมนั้นอาจขึ้นแล้วแต่จำนวนและธนาคาร) โดยจะแสดงค่าธรรมเนียม และเงินที่จะหักจริงแสดงในหน้าจอสุดท้าย ดังรูป
ก็ให้คิดเล่น ๆ ว่า หากเราต้องการกดเงินสด ก็จะมีการเรียกเก็บจากทั้งตู้ ATM เกาหลี (ประมาณ 3,500 วอน) และของที่ไทย (100 บาท) ขึ้นอยู่กับธนาคาร และสูตรการคำนวนค่าใช้จ่ายก็ยังคงเดิมตามเรทด้านบน ทางที่ดีใช้บัตรรูดจ่ายค่าสินค้าน่าจะคุ้มกว่าการกดมาใช้เป็นเงินสด
ถ้าเอาบัตรไปรูดจ่ายเลยล่ะ จะคิดยังไง?
ถ้าเรานำบัตรของเราไปรูดชำระสินค้าเลย ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมธนาคาร 100 บาท สามารถใช้เรทเดียวกันกับที่อยู่ในเว็บไซต์ Currency Converter ได้เลย
และเพื่อเป็นการทดสอบความถูกต้อง เราจึงได้ไปทำการลองซื้อสินค้าในราคา 6,600 วอน มา ทำการกรอกข้อมูลค้นหายอดจากเว็บไซต์ Currency Converter ก็พบว่ายอดที่หักนั้นตรงตามกับเรทที่คำนวณจากเว็บไซต์เป๊ะ ไม่มีค่าธรรมเนียม 100 บาท เหมือนกับการกดตู้ ATM
สรุป
หวังว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว เพื่อนๆจะมีความมั่นใจในการบริหารจัดการเงินเพื่อการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น และแน่นอนว่าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินก็มีแผนสำรอง สามารถกดเงินสดมาใช้ได้อย่างไม่มีปัญหา และที่พูดถึงการกดเงินสดนี้ จะเป็นการพูดถึงเฉพาะ บัตรเดบิต (debit card) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การใช้บัตรเครดิต (credit card) กดเงินสดจากตู้ ATM จะมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันอยู่มาก… ! ขึ้นอยู่กับประเภทบัตร โปรโมชั่นของบัตร ซึ่งต้องเช็คกับธนาคารให้ดีๆเลยล่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางท่องเที่ยวในเกาหลี แล้วอย่าลืมติดตามบทความที่น่าสนใจผ่านช่องทางบน Twitter และ Fanpage จะไปเกาหลี ของเราด้วย ใครมีคำแนะนำในการใช้จ่ายเงินอะไรก็อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนกันได้ใน กลุ่มคนจะไปเกาหลี กันนะ 🙂