ในช่วงที่อากาศไม่เป็นใจกับการท่องเที่ยว ฝุ่นละอองปกคลุมไปหมดแบบนี้ ตามประกาศของกรมสิ่งแวดล้อมเกาหลี (환경부) มักจะประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนละเว้นการออกจากนอกบ้าน แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรจะสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้รับการรับรอง ซึ่งเราสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านเครื่องเขียน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้ตามร้านค้าข้างทาง
ก่อนจะไปดูว่ามีหน้ากากอนามัยแบบไหนให้เลือกซื้อ อยากจะอธิบายก่อนว่า ฝุ่นละออง นั้น ไม่ได้มีอยู่แค่ประเภทเดียว แต่ยังมีอยู่ถึง 3 ประเภท
ประเภทของฝุ่นละออง
ฝุ่น มีหลายประเภทแบ่งตามการเรียกของที่มาและขนาดของฝุ่นละออง โดยรูปแบบหลักๆที่สามารถเจอได้ที่ประเทศเกาหลีจะมี 3 แบบดังนี้
ชื่อเรียก | ขนาด | ที่มา |
ฝุ่นละออง (Fine dust – 미세먼지) | เส้นผ่าศูนย์กลาง น้อยกว่า 10㎛ (ไมครอน) | การเผาในที่โล่ง, ควันเสียจากยานยนต์, ภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยความชื้น |
ฝุ่นละเอียด (Ultrafine dust 초미세먼지) | เส้นผ่าศูนย์กลาง น้อยกว่า 2.5㎛ (ไมครอน) | การเผาในที่โล่ง, ควันเสียจากยานยนต์, ภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยความชื้น |
ฝุ่นเหลือง (Yellow dust – 황사) | เส้นผ่าศูนย์กลาง น้อยกว่า 20㎛ (ไมครอน) | มาจากดินที่พัดมาจากทะเลทราย ทางประเทศจีน |
ซึ่งหากเทียบกับเส้นผมที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๆ 50-70㎛ กับฝุ่นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10㎛ จะเห็นได้ว่าฝุ่นสามารถแทรกซึมเข้าไปตามอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลระยะยาวกับร่างกายของเราได้
นอกจากนี้ยังมีการเรียกมลภาวะอากาศที่มีทั้งควันและหมอกอยู่ด้วยกันว่า สม็อก (smog,스모그) ที่มาจากคำว่า “smoke (ควัน) + fog (หมอก)” ซึ่งมักจะพบในช่วงที่อากาศไม่มีการถ่ายเท ทำให้เกิดปริมาณหมอกควันสะสมอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง
ที่มา : https://gscaltexmediahub.com/campaign/life-energy-dust-and-fine-dust/
โรคหรืออาการที่เกิดจากฝุ่น
เนื่องจากในฝุ่นละอองมีส่วนประกอบของกลุ่มไอออนจากไนเตรท, แอมโมเนียมไอออน หรือกรดซัลฟิวริก รวมกับสารประกอบคาร์บอน ทำให้เกิดเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้การสัมผัสหรือรับฝุ่นละอองเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ/ปวดศีรษะได้ และในระยะยาวอาจจะนำไปสู่ โรคภูมิแพ้, โรคหอบหืด, โรคเกี่ยวกับตา, โรคผิวหนัง หากได้รับฝุ่นละอองในปริมาณมาก ก็จะกระทบกับ ระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง, โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
วิธีการเลือกซื้อหน้ากากอนามัย ที่ป้องกันฝุ่นละออง
หน้ากากอนามัยที่มีจำหน่ายอยู่ที่เกาหลี มักจะนิยมใช้หน่วย Korea Filter โดยใช้หน่วยเฉพาะคือ KF ซึ่งย่อมาจาก Korea Filter โดยตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งมีความสามารถในการกรองสูง โดยสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ KF80, KF94 และ KF99
หน้ากาก KF80, KF94, KF99 เกาหลี คืออะไร?
ที่บ้านเรามักจะเป็นพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ เริ่มมีการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากเกาหลีมาจำหน่ายในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีการระบุค่าด้วยมาตรฐาน KF (Korea Filter) โดย Korea Filter จะเป็นการระบุความสามารถในการป้องกันฝุ่นละออง ถ้าให้คิดง่ายๆ ก็คือ KF80 จะสามารถป้องกันได้ 80%, KF94 สามารถป้องกันได้ 94% นั่นหมายความว่า “ยิ่งเลขสูงขึ้นยิ่งมีความสามารถในการป้องกันฝุ่นละออง เชื้อโรคในอากาศได้ดียิ่งขึ้น” แลกกับความรู้สึกสะดวกสบายในการสวมใส่
ในประเทศเกาหลีมีการ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยที่มีค่า KF ตั้งแต่ KF80 ขึ้นไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และหากมีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือทำงานร่วมกับผู้ป่วย (บุคลากรทางการแพทย์) หรืออยู่ในสถานที่ปิด ก็มักจะแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีค่า KF ที่สูงขึ้น
สำหรับหน้ากากที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย จะบอกประสิทธิภาพในการกรอง โดยใช้หน่วย N เช่น N95/N99/N100 ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการกรองที่สูง โดย N95 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก (ฝุ่นขนาด 0.3 ไมครอน) ได้อย่างน้อย 95%
หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละเอียด (PM2.5) ได้ ต้องมีค่า KF80 หรือ N95 ขึ้นไป
ขนาด ของหน้ากากป้องกันฝุ่น จะมี ขนาดใหญ่ (대형) สำหรับผู้ใหญ่ โดยจะเขียนว่า 대형 (ขนาดใหญ่) 성인용 (สำหรับผู้ใหญ่) กำกับไว้หน้าซอง สำหรับ ขนาดเล็ก (소형) จะเหมาะกับผู้ที่มีใบหน้าเล็ก หรือเด็ก โดยจะมีข้อความเขียนว่า 소형 (ขนาดเล็ก) หรือ 유아용 (สำหรับเด็กเล็ก) หรือ 어린이용 (สำหรับเด็ก) กำกับไว้หน้าซอง ควรหาขนาดที่เหมาะสมเพื่อการปกปิดที่มิดชิด
ราคา ของหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติกันฝุ่นละออง จะมีราคาสูงกว่าหน้ากากทั่วไปเล็กน้อย หากซื้อตามห้างสรรพสินค้า เป็นกล่องใหญ่จะตกอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 800-1,200 วอน/ชิ้น (24-36 บาท) หากซื้อตามร้านสะดวกซื้อหรือแผงร้านค้าทั่วไป จะอยู่ที่ราว ๆ 1,500-3,000 วอน/ชิ้น (45-90 บาท)
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีการประกาศเตือนฝุ่นละออง
- ละเว้นการปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้ง การอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน
- เลี่ยงการทำงานหรืออยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองจัดเป็นเวลานาน (เช่น เขตพื้นที่ก่อสร้าง)
- หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน
- ล้างมือให้สะอาด เมื่อกลับมาจากข้างนอก
- รับประทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ